โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
เป็นภาวะที่มวลกระดูก (Bone density) ในร่างกายลดลง ซึ่งเมื่ออายุของเราเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งทำให้มวลกระดูกของเราลดลงไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดภาวะกระดูกบาง โดยมวลกระดูกของเราจะลดลงปีละ 1-3% และ โรคกระดูกพรุน จะพบมากตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพศ ซึ่งในเพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้มาก ถึง 1 ใน 3 ซึ่งมากกว่าเพศชาย ที่มีอัตราส่วนอยู่ที่ 1 ใน 5 นั่นก็เพราะเป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือน นอกจากนั้นปัจจัยด้านพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหารที่ทาน และการใช้ยาบางชนิด ล้วนมีผลต่อมวลกระดูกทั้งหมด สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหลายคนไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังมีภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุนอยู่ เนื่องจากโรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือน และจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งกว่าเราจะรู้ตัวอีกทีก็มีอาการปวดไปแล้ว และที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้น ในบางรายที่มีภาวะกระดูกพรุนอย่างรุนแรงจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดกระดูกหักได้
รู้หรือไม่ว่า...แรงโน้มถ่วงของโลกส่งผลดีต่อมวลกระดูก ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นหลายคนจะยิ่งกลัวการออกกำลังกายพวก High impact ไม่กล้าวิ่ง หรือ กระโดด แต่ทว่าแรงกระทำหรือแรงกดที่กระดูกนั้นสำคัญต่อมวลกระดูกมาก ยกตัวอย่างในนักบินอวกาศเมื่ออยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้มวลกระดูกลดลง จึงจำเป็นต้องออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนักที่ค่อนข้างเยอะเพื่อรักษาให้มวลกระดูกไม่ลดลงไปกว่าเดิม เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราควรหันมาเพิ่มการออกกำลังกายที่ถ่ายน้ำหนักลงบนกระดูกอย่างเหมาะสม จะช่วยป้องกัน ชะลอการเกิดโรคกระดูกพรุนและช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ แต่ไม่ใช่การออกกำลังกายทุกอย่างจะเหมาะสมต่อผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน ดังนั้นผู้มีภาวะกระดูกพรุนควรระวังในการออกกำลังกายที่ไปกระตุ้นอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้น